วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553

โรคของปลาทองและวิธีการรักษา

...ต่อเนื่องจากคราวที่แล้วหลังจากที่เราได้รู้จักวิธีเลือกเจ้าหัววุ้นแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเราควรจะรู้ลักษณะ อาการแต่ละโรคของเจ้าหัววุ้นของเราด้วย เพื่อที่จะทำให้มันอยู่กับเราไปนานๆ

โรคของปลาทองและวิธีการรักษา
1) โรคหนอนสมอ (Anchor worms)
อาการ : หนอนสมอจะมีขนาดความยาว 0.6-1 เซนติเมตร หนอนสมอจะใช้ส่วนหัวฝังเข้าไปในตัวปลาและยื่นส่วนหางออกมาทำให้เห็นเหมือนมีเส้นด้ายเกาะติดอยู่ที่ตัวปลา ถ้าดึงออก ส่วนที่เป็นสมอมักจะขาดติดอยู่ใต้ผิวหนังทำให้เกิดแผล เป็นทางให้แบคทีเรียเข้าสู่ตัวปลาได้ ปลาที่พบหนอนสมอจะมีอาการซึมไม่กินอาหาร ว่ายถูตัวกับขอบตู้หรือบ่อ และมีรอยแดงช้ำเป็นจ้ำตามตัว เนื่องจากปลาระคายเคืองเป็นอย่างมาก จะเอาตัวถูข้างบ่อ

การรักษา : แช่ปลาในสารละลาย ดิพเทอเร็กซ์ 0.25-0.5 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ตลอดไป และแช่ซ้ำทุก 7 วัน รวมระยะเวลารักษา 4 ครั้งหรือเวลารักษา 1 เดือน


2) โรคเห็บ Fish lice

อาการ : เห็บมีลักษณะกลมแบบคล้ายรูปจาน ขนาดยาว 3 - 5 มิลลิเมตร มีขา 8 ขา แต่ละขายังแยกเป็นขาละ 2 คู่ ปลาที่มีเห็บเกาะอยู่จะว่ายถูตัวกับข้างบ่อ เพื่อให้เห็บหลุด เกล็ดปลาจะหลุดเป็นแผล ซึ่งทำความเสียหายมากเนื่องจากปรสิตนี้สามารถขยายพันธุ์เร็ว
การรักษา : แช่ปลาที่มีเห็บในสารละลาย ดิพเทอเร็กซ์ในอัตราส่วน 0.25-0.5 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร
แช่ตลอดไปและแช่ซ้ำทุก 7 วันต่อครั้ง รวมระยะเวลารักษา 4 ครั้ง หรือเวลารักษา 1 เดือน

3) โรคท้องบวม (Abdominal dropsy)
อาการ : เป็นโรคที่ส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรีย ปลาจะมีอาการเซื่องซึม ไม่เคลื่อนไหว อยู่ใต้ผิวน้ำหรือจมก้นบ่อ ปลาไม่ค่อยกินอาหารในแบบเฉียบพลัน ส่วนท้องจะบวมมาก มีน้ำสีแดงออกมาจากช่องท้อง และอาจเกิดเกล็ดตั้งขึ้น ส่วนแบบเรื้อรัง ผิวหนังของปลาจะเป็นรอยช้ำตกเลือด
การรักษา : แช่ปลาในยาปฏิชีวนะออกซี่เตตร้าซัยคลิน หรือเตตร้าซัยคลิน ในอัตราส่วน 10-20 มิลลิกรัม
ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 2-3 วัน จึงถ่ายน้ำใหม่แล้วแช่ยาซ้ำอีก:ไม่ควรเลี้ยงปลาในปริมาณที่แน่นจนเกินไปและควรให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม



4) โรคเวลเว็ทหรือโอโอดิเนียม (Velvet disease)
อาการ : เป็นโรคที่เกิดจากปรสิต (Oodinium sp.) มีสีน้ำตาลคล้ายสนิมเกาะตามลำตัว เหงือก ถ้ามีเป็นจำนวนมากจะทำให้ปลาว่ายน้ำทุรนทุราย เนื่องจากหายใจไม่ออก
การรักษา : แช่ปลาในน้ำเกลืออัตราส่วน เกลือ 1 กิโลกรัมในน้ำ 100 ลิตร แช่จนปลาเริ่มว่ายน้ำกระสับกระส่ายจึงจับปลาออก และอาจต้องทำซ้ำอีก 2-3 ครั้ง โดยเว้นระยะ 2-3 วัน


5) โรคเหงือกอักเสบหรือเหงือกเน่า (Gill rot)
อาการ : เหงือกปลาจะบวมแดง เกิดการเน่าและแหว่งหายไป ปลาหายใจถี่ผิดปกติ และขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำเสมอ ๆ หรือว่ายไปอยู่ที่ท่อออกซิเจน
การรักษา : ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยขึ้น และให้ออกซิเจน หรือใช้ด่างทับทิม 3-4กรัม ต่อน้ำ 1,000ลิตร
แช่ตลอดไป


6) โรคครีบและหางเปื่อย
อาการ : ปลาจะมีอาการเซื่องซึมไม่ค่อยกินอาหารและมักจะว่ายน้ำสั่นกระตุกเป็นพัก ๆ ครีบและหางจะขาดแหว่งคล้ายถูกกัด บริเวณปลายครีบและหางจะมีสีขาวขุ่นหรือแดง และค่อย ๆ ลุกลามไปเรื่อย ๆ จนครีบและหางของปลาหดหายไป ซึ่งจะทำให้ปลาตายในที่สุด โรคนี้เกิดจากปลาได้รับเชื้อโปรโตซัว และมีการติดเชื้อแบคทีเรียรวมด้วย
การรักษา : แช่ปลาป่วยด้วยฟอร์มาลิน 25 - 45ซีซี/ น้ำ 1,000ลิตร แช่ปลานาน 2วัน ใช้ยาปฏิชีวนะจำพวกไนโตรฟูราโซน ในอัตราส่วน 1-2กรัม ต่อน้ำ 1,000ลิตรแช่ปลานาน 2-3วัน


....สรุป เห็นไหมละครับว่าไม่ใช่แค่คนอย่างเราๆเท่านั้นที่ป่วย เจ้าหัววุ้นของเราก็มีโอกาสป่วยหรือมีบาดแผลได้ หากเราไม่ดูแลมันอย่างถูกวิธี และเมื่อมันป่วยมาแล้ว เราก็ควรรักษามันนะครับอย่าบ่อยมันไปเฉยๆสงสารมัน 1ชีวิตเท่ากัน และที่สำคัญอีกอย่างโรคบางโรคมันอาจนำไปติดเพื่อนๆในตู้ปลาได้อีกด้วย

2 ความคิดเห็น:

  1. แช่เตตร้าซัยคลิน รวมกับตัวที่ไม่ป่วยได้ไหมค่ะ

    ตอบลบ
  2. ปลาเราจากที่อ่านน่าจะเป็นโรคท้องบวม ก็เลยแช่เตตร้าไซคลินไว้1วัน กลับมาบ้านมองเห็นในอ่างปลาน้ำเป็นสีแดงแทบพุ่ง ขว้างnotebookแล้วคว้า ดีปลาไม่เป็นอะไร ว่ายปกติ แต่กลัวว่าจะใส่ยาให้เค้าแรงไป ไม่รู้น้ำสีแดงมาจากไหน เพราะปกติเตตร้าไซคลินจะเป็นสีเหลือง ทิ้งไว้น้ำจะออกหนืดๆ เป่าอ๋อกแล้วอ็อกซิเจนจะผุดเป็นฟอง ต้องบอกว่าตกใจมากๆ กลัวปลาทองตาย สิงห์ห้าสีตัวใหญ่ด้วย เลี้ยงมาเป็นปีๆ

    ตอบลบ